ความเป็นมาของโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ:
โครงการแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของชุมชนภายใต้วิถีโหนด-นา-เลในคาบสมุทรสทิงพระ
ความเป็นมาของปัญหาการวิจัย

ศักยภาพชุมชนเป็นความสามารถของกลุ่มบุคคลซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อตัดสินใจบนฐานของกลุ่มที่สอดคล้องกับปัญหาและสถานการณ์นั้นๆ ในการนำศักยภาพที่มีอยู่มาพัฒนาชุมชน เมื่อคนในชุมชนมีศักยภาพ ย่อมสนับสนุนให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลบนพื้นฐานของการช่วยเหลือตนเองหรือการพึ่งตนเองของคนในชุมชนมากกว่าการพึ่งพาจากหน่วยงานภายนอกชุมชน

การพัฒนาศักยภาพของชุมชน จึงเป็นการพัฒนาที่มีฐานคิดใหม่ว่า ชุมชนไม่ได้ “โง่ จน เจ็บ” แต่อยู่บนฐานของความเข้าใจเรื่อง “ศักยภาพ” ของชุมชนที่มี “คน ความรู้ ทรัพยากร” ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนจึงเป็นการช่วยให้ชุมชนพัฒนาศักยภาพของตนเอง (community empowerment) โดยการเชื่อมโยงระหว่าง “คน ความรู้ ทรัพยากร” จนเกิดความสัมพันธ์ซึ่งเรียกว่า “กระบวนทัศน์พัฒนาใหม่” ที่ประกอบไปด้วย “การเรียนรู้ การจัดการ และการพัฒนา” ซึ่งถือว่า ชุมชนมีการจัดการตนเอง มีการจัดองค์กรชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาศักยภาพของชุมชนได้เริ่มและเน้นที่การจัดกระบวนการเรียนรู้ (คนสัมพันธ์กับความรู้) กระบวนการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความรู้ (คนสัมพันธ์กับทรัพยากร) และกระบวนการพัฒนาทุนของชุมชนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการสร้างทุนความรู้ ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ซึ่งเป็นประสบการณ์ในการพัฒนา

การพัฒนาศักยภาพชุมชนถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีรากฐานของ เศรษฐกิจอยู่ที่ระดับชุมชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาจะไร้ทิศทางและเป็นไปตามความต้องการของนักวิชาการ มากกว่าความต้องการจากของชุมชน เพราะขาดข้อสนเทศของชุมชน หากนักวิชาการหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีข้อสนเทศที่เป็นบริบทของชุมชนอย่างแท้จริงแล้วย่อมสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนได้อย่างแท้จริง และสามารถทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยวิถีดั้งเดิมของบรรพชน ไม่เปลี่ยนไปตามกระแสของนักวิชาการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ข้อเสนอแนะที่ไม่มีพื้นฐานของความเป็นจริงหรือความเป็นไปได้ อันจะทำให้การพัฒนาศักยภาพชุมชนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลก่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชนอย่างแท้จริง

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของผู้วิจัยพบว่าในพื้นที่อำเภอสิงหนคร และอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางการทำนา ขึ้นต้นตาลโตนด และทำประมง หลายชุมชนที่ภาครัฐได้เข้ามาหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้และจัดตั้งกลุ่มให้แก่ชุมชน บางชุมชนล้มเหลว เมื่อหน่วยงานภาครัฐกลับออกไป ชุมชนไม่สามารถสานต่อโครงการหรือดำเนินกิจกรรมที่ภาครัฐตั้งต้นไว้ได้ แต่บางกลุ่มสามารถรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมต่อยอดได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้ และหันกลับมาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูวิถีโหนด-นา-เล ซึ่งเป็นการช่วยให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติพลังงาน และภัยธรรมชาติ

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นคณะผู้วิจัยจึงเกิดความคำถามว่า ชุมชนมีฐานทรัพยากรอาหารอะไรบ้าง ปริมาณเท่าใด อยู่ที่ใด มีปัจจัยใดบ้างที่เป็นสาเหตุ และภาวะคุกคามที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โหนด-นา-เล และที่สำคัญชุมชนมีคนที่มีศักยภาพ ภูมิปัญญา ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารอย่างไร  ทั้งนี้เพื่อให้ทราบสถานการณ์ด้านต่างๆ ของศักยภาพของคนที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์หาแนวทางในการที่จะเสริมสร้างศักยภาพของ ชุมชนด้านความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของความมั่นคงอาหาร

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
  1. เพื่อจัดทำแผนที่ความมั่นคงของอาหาร โดยแสดงให้เห็นว่ามีฐานทรัพยากรอะไรบ้าง ปริมาณเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้างอันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โหนด-นา-เลในคาบสมุทรสทิงพระ
  2. เพื่อศึกษาปัจจัย สาเหตุ ภาวะคุกคามที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โหนด-นา-เลในคาบสมุทรสทิงพระ
  3. เพื่อศึกษาศักยภาพของคน/ชุมชน (human mapping) เพื่อแสดงให้เห็นว่าในชุมชนมีคนที่มีศักยภาพ ภูมิปัญญา ความรู้ นวัตกรรม รวมถึงกระบวนการชุมชนอะไรบ้าง
  4. เพื่อศึกษาแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของชุมชนภายใต้วิถีโหนด-นา-เลในคาบสมุทรสทิงพระ
ประกาศคุณูปการ

งานวิจัยเรื่องนี้ได้รับอุดหนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะผู้วิจัยขอขอบคุณที่ให้โอกาสในการผลิตผลงานวิจัย ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่พิจารณาให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการทำวิจัยภายใต้วิจัย ABC ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและขอขอบคุณมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ที่สนับสนุนคณะผู้วิจัยให้มีโอกาสทำงานในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน