ปัจจัย สาเหตุ ภาวะคุกคามพื้นที่โหนด-นา-เล

ปัจจัย สาเหตุ ภาวะคุกคามพื้นที่โหนด-นา-เล

 

ปัญหาของประชาชนในพื้นที่อำเภอสิงหนครที่เกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน

 

  1. ตำบลชะแล้ พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม  ทะเลสาบเสื่อมโทรม ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาการว่างงาน
  2. ตำบลบางเขียด พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม  ทะเลสาบเสื่อมโทรม ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ
  3. ตำบลม่วงงาม พบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำทะเลกัดเซาะปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหามลพิษจากโรงงาน
  4. ตำบลวัดขนุนพบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำทะเลกัดเซาะปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอปัญหาการว่างงาน ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหามลพิษจากโรงงาน
  5. ตำบลปากรอพบว่ามี ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์และ ทะเลสาบเสื่อมโทรม ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  บริเวณริมทะเลสาบน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ  ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาการว่างงาน
  6. ตำบลป่าขาดพบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์และ  ทะเลสาบเสื่อมโทรม ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  บริเวณริมทะเลสาบน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาการว่างงาน
  7. ตำบลทำนบพบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม  คลองและแหล่งสาธารณะตื้นเขิน ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณคลองสทิงหม้อ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ
  8. ตำบลชิงโคพบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม  น้ำทะเลกัดเซาะปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  ดินไม่มีคุณภาพ ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาการว่างงาน
  9. ตำบลรำแดงพบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม  คลองและแหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขิน ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณคลองสทิงหม้อ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ

 

ปัญหาของประชาชนในพื้นที่อำเภอสทิงพระที่เกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน

 

  1. ตำบลชุมพลพบว่ามีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรต้นทุนสูง ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่ง
  2. ตำบลดีหลวงพบว่ามีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรต้นทุนสูง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรตื้นเขิน ปัญหายาเสพติด น้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่ง
  3. ตำบลคลองรี พบว่ามีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาลดลง ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน
  4. ตำบลสนามชัย พบว่ามีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรตื้นเขิน ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่ง
  5. ตำบลคูขุด พบว่ามีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาปริมาณลดลง ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน
  6. ตำบลกระดังงา พบว่ามีปัญหาขาดน้ำเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ  ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่ง
  7. ตำบลจะทิ้งพระ พบว่ามีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ปัญหายาเสพติด

ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

  1. ตำบลท่าหิน พบว่ามีปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ปัญหาสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาปริมาณลดลง ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน
  2. ตำบลบ่อดาน พบว่ามีปัญหาขาดน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่ง
  3. ตำบลวัดจันทร์ พบว่ามีปัญหาขาดน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่ง

 

ปัจจัยสาเหตุ ภาวะคุกคามที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โหนด-นา-เล

 

จากการศึกษาพื้นที่โหนด-นา-เลในคาบสมุทรสทิงพระโดยเฉพาะในพื้นที่ของการวิจัยในเขตอำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนครพบว่า ปัจจัยสาเหตุ ภาวะคุกคามที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โหนด-นา-เล นำเสนอตามประเด็นของกิจกรรมการทำนา ตาลโตนด และทำประมงดังนี้

 

พื้นที่การทำนาและตาลโตนด: ปัจจัยสาเหตุภาวะคุกคามที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์

จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก พบว่ามีปัจจัยสาเหตุหลายประการดังนี้

  1. เกิดจากภัยธรรมชาติ

1.1 น้ำท่วมทำให้พื้นที่นาปีได้รับความเสียหายในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ต่ำ สภาพเป็นที่ราบลุ่มริมน้ำ และเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ชาวบ้านที่ทำนาในตำบลชะแล้เล่าให้ฟังว่า น้ำเคยท่วมเมื่อปี 2556 ถึงแม้จะท่วมไม่นาน แต่อย่างไรก็ตามข้าวเสียหาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำนาปี และการขึ้นต้นตาลโตนดของชาวบ้านในเขต 2 อำเภอ ดังนี้

p1

ภาพที่ 1 พื้นที่น้ำท่วมในช่วงฤดูฝน

ที่มา: ถ่ายโดยชาวบ้านเมื่อ ปี 2556

 

1.1.1  พื้นที่เสี่ยงภัยในช่วงฤดูฝน ในเขตอำเภอสทิงพระ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำนา และต้นตาลโตนด จากการสำรวจสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วมที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอสทิงพระเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง แยกเป็นสามประเด็นดังนี้

1.1.1.1 พื้นที่ลุ่มริมน้ำ พบว่า เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลุ่มริมน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการทำนา ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำนา และต้นตาลโตนดมีหลายพื้นที่ ได้แก่

– พื้นที่ตำบลคูขุด ได้แก่ หมู่บ้านบางด้วน หมู่บ้านศรีไชย หมู่บ้านโตนดรอบ หมู่บ้านพังจาก หมู่บ้านแหลมวัง หมู่บ้านดอนคันเหนือ หมู่บ้านดอนคันใต้ และหมู่บ้านคอหงษ์

– พื้นที่ตำบลกระดังงา ได้แก่ หมู่บ้านดอนแย้ หมู่บ้านหนองมวง หมู่บ้านกระดังงา หมู่บ้านพังเป็ด หมู่บ้านบ่อกุด หมู่บ้านพังเถี๊ยะ หมู่บ้านพังสาย

– พื้นที่ตำบลดีหลวง ได้แก่ หมู่บ้านเลียบ หมู่บ้านชะลอน หมู่บ้านพังไทร

– พื้นที่ตำบลชุมพล ได้แก่ หมู่บ้านชุมพลชายทะเล หมู่บ้านวัดกระชายทะเล หมู่บ้านนางหล้า หมู่บ้านวัดกระ หมู่บ้านคลองฉนวน หมู่บ้านพะโคะ หมู่บ้านชุมพล

– พื้นที่ตำบลคลองรี ได้แก่ หมู่บ้านคลองรี หมู่บ้านคลองหนัง หมู่บ้านถิน หมู่บ้านท่าคูระ

1.1.1.2 พื้นที่ลุ่มแอ่งกระทะ พบว่า เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำนา และต้นตาลโตนดมีหลายพื้นที่ ได้แก่

– พื้นที่ตำบลคลองรี ได้แก่ หมู่บ้านท่าโพธิ์ หมู่บ้านท่าโพธิ์ใหม่

– พื้นที่ตำบลวัดจันทร์ ได้แก่ หมู่บ้านหัวยาง หมู่บ้านบ่อประดู่ หมู่บ้านปอ หมู่บ้านพังเถร หมู่บ้านพลี

– พื้นที่ตำบลบ่อแดง ได้แก่ หมู่บ้านแคใต้ หมู่บ้านวัดพิกุล

– พื้นที่ตำบลสนามชัย ได้แก่ หมู่บ้านพังกก หมู่บ้านสนามชัย หมู่บ้านดอนเค็ด

1.1.1.3 พื้นที่ราบน้ำท่วมขัง พบว่า เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำนา และต้นตาลโตนดมีหลายพื้นที่ ได้แก่  หมู่บ้านพังเภา หมู่บ้านพังเสม็ด หมู่บ้านมัจฉา หมู่บ้านพังลึก ตำบลจะทิ้งพระ

1.1.2  พื้นที่เสี่ยงภัยในช่วงฤดูฝน ในเขตอำเภอสิงหนคร จากการสำรวจสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วมที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอสิงหนครเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำนา และต้นตาลโตนด แยกเป็นสองประเด็นดังนี้

1.1.2.1 พื้นที่ลุ่มริมน้ำ พบว่า เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลุ่มริมน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการทำนา ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำนา และต้นตาลโตนดมีหลายพื้นที่ ได้แก่

– พื้นที่ตำบลชะแล้ เช่น หมู่บ้านแหลมไทร

– พื้นที่ตำบลบางเขียด ได้แก่ หมู่บ้านใหญ่ หมู่บ้านระฆัง

– พื้นที่ตำบลปากรอ ได้แก่ หมู่บ้านบ่อทราย หมู่บ้านบางไหน หมู่บ้านใต้ หมู่บ้านแหลม หมู่บ้านแหลมจาก

1.1.2.2 พื้นที่ลุ่มแอ่งกระทะ พบว่า เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำนา และต้นตาลโตนดมีหลายพื้นที่ ได้แก่

– พื้นที่ตำบลสทิงหม้อ ได้แก่ หมู่บ้านธรรมโฆษณ์ หมู่บ้านสทิงหม้อ

– พื้นที่ตำบลรำแดง พื้นที่เสี่ยงภัยที่มีความเสี่ยงสูง ประเภทที่ลุ่มแอ่งกระทะ น้ำท่วมขัง  ได้แก่ หมู่บ้านหนองโด หมู่บ้านห้วยพุด หมู่บ้านรำแดง หมู่บ้านนอก หมู่บ้านป่าขวาง

– พื้นที่ตำบลม่วงงาม ได้แก่ หมู่บ้านม่วงงาม

– พื้นที่ตำบลทำนบ ได้แก่ หมู่บ้านแม่ลาด หมู่บ้านพร้าว หมู่บ้านหนองหอย หมู่บ้านหัวขี้เหล็ก หมู่บ้านต่างหน

– พื้นที่ตำบลป่าขาด ได้แก่ หมู่บ้านหัวลำภู หมู่บ้านป่าขาด หมู่บ้านเทพยา หมู่บ้านชายป่า

1.1.2.3 พื้นที่ราบน้ำท่วมขัง พบว่า เมื่อถึงฤดูฝน ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำนา และต้นตาลโตนดมีหลายพื้นที่ ได้แก่  หมู่บ้านดอนทิง ตำบลปากรอ

1.2  ฝนแล้ง ในฤดูร้อน น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา เนื่องจากระบบชลประทานยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ จึงทำให้ทำนาปรังไม่ได้

 

p2

ภาพที่ 2 พื้นที่ทำนาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ที่มา ถ่ายโดยคณะผู้วิจัยวันที่ 2 มีนาคม 2558

 

  1. ภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อการทำประมง

พื้นที่ตำบลหัวเขา ไม่มีพื้นที่ในการทำนา ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำประมงชายฝั่ง ซึ่งหากมีปัญหาการเกิดน้ำท่วมก็จะทำให้มีปัญหาในการทำประมงชายฝั่งได้เช่นเดียวกัน เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การทำประมงขนาดเล็ก ทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องมือประมงของชาวชุมชนตำบลหัวเขา โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง ประเภทที่ลุ่มริมลำน้ำ น้ำล้นตลิ่ง ดิน/โคลนถล่ม ได้แก่ หมู่บ้านเขาแดง หมู่บ้านแหลมสน หมู่บ้านนอก หมู่บ้านหัวเขา หมู่บ้านท่าเขา หมู่บ้านหัวเลน หมู่บ้านบนเมือง หมู่บ้านบ่อสวน ส่วนหมู่บ้านปลายนา เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่มีความเสี่ยงสูง ประเภทที่ลุ่มแอ่งกระทะ น้ำท่วมขัง

  1. ศัตรูพืชที่ทำให้นาข้าวเสียหาย

        ศัตรูพืชที่ทำให้นาข้าวเสียหายที่รุนแรงคือหอยเชอรี่ เพราะหอยเชอรี่จะทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ชาวนาจะฉีดยาฆ่าหอยเชอรี่ก็ยังไม่ตาย หอยเชอรี่จะขึ้นไข่บนต้นข้าว  กินต้นข้าว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทางการได้ปล่อยนกปากอ้าของพระเทพฯ ให้มาปราบหอยเชอรี่ แต่ก็ยังไม่หมด เพลี้ยก็มีบ้างแต่ไม่มาก  นอกจากนั้นยังมีข้าวผีที่ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวข้าว และไม่สามารถนำพันธุ์ข้าวไว้สำหรับปลูกได้หากใช้วิธีตัดข้าว เพราะข้าวผีจะติดมาด้วย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชาวนา เพราะไม่มีรวงข้าว

p3

หอยเชอร์รี่ไม่ตายแม้ไม่มีน้ำสามารถฝังตัวในดินและมีชีวิตขึ้นมาใหม่ได้อีกเมื่อมีน้ำในนา

ที่มา: ถ่ายโดยผู้วิจัยวันที่ 25 กรกฎาคม 2558

  1. การทำไร่นาสวนผสมที่หน่วยงานภาครัฐมาส่งเสริม

การส่งเสริมให้ปลูกไร่นาสวนผสมส่วนหนึ่งถึงแม้จะทำให้ชาวนามีพืชหมุนเวียนเป็นฐานทรัพยากรอาหารในชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้พื้นที่การทำนาลดลง ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ หมุนเวียนในที่นาเป็นจำนวนมาก และเป็นพืชที่ต้องการน้ำในการดูแล ดังนั้นกลุ่มที่ปลูกพืชหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หรือการแบ่งพื้นที่นาเพื่อทำไร่นาสวนผสมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่การทำนาลดลง ชาวบ้านเล่าว่าการลงทุนใส่ปุ๋ยครั้งเดียวแต่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมีรายได้สัปดาห์ละครั้ง ในขณะที่การทำนา ได้ปีละ 1 ครั้ง จึงทำให้คนหันไปทำไร่นาสวนผสมกันเป็นจำนวนมาก

  1. การทำสวนปาล์มในพื้นที่นา

การทำสวนปาล์มในพื้นที่นาเริ่มมีให้เห็นหลายหมู่บ้านหลายตำบลจากการสำรวจข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนต่าง ๆ พบว่า ลงทุนครั้งเดียวแต่ผลผลิตอยู่ได้นาน ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวไม่ยุ่งยากเหมือนการทำนาที่ต้องใส่ปุ๋ยหลายครั้ง

 

ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร

 

การเข้าถึงอาหารจากแหล่งต่างๆ ของคนในชุมชนนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ซึ่งล้วนเป็นผลที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารตามความหมายที่เข้าใจ ประเด็นความเสี่ยงในการเข้าถึงอาหารจากแหล่งต่างๆ สามารถประมวลตามข้อสรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. ความเสี่ยงทางด้านกายภาพ โดยมีปัจจัยความเสี่ยงจากการใช้ที่ดินทำกินเป็นประเด็นสำคัญ สถานการณ์ความเสี่ยงหรือความเปราะบางที่เกิดขึ้น ได้แก่ การใช้ที่ดินเพาะปลูกซ้ำๆ ทำให้ดิน เสื่อมสภาพ หมดความอุดมสมบูรณ์ การให้เช่าที่ดินแก่บุคคลภายนอก ทำให้เกิดการใช้สารเคมีอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดยการนำที่ดินทางการเกษตรมาถมที่ตัดแบ่งขายเพื่อนำมาทำบ้านจัดสรร

p4

ภาพการนำเอาพื้นที่นามาขายให้นายทุน นายทุนถมที่เพื่อนำตัดล็อกแบ่งเป็นพื้นที่จัดสรร ในพื้นที่ตำบลม่วงงาม

ที่มา: ถ่ายโดยคณะผู้วิจัยวันที่ 29 กรกฎาคม 2558

 

 

  1. ความเสี่ยงทางด้านชีวภาพ โดยมีปัจจัยความเสี่ยงในด้านเมล็ดพันธุ์พืชเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในพืชหลัก ได้แก่ ข้าว ถั่วเหลือง ตลอดจนพืชผักท้องถิ่นต่างๆ มีสถานการณ์ความเสี่ยงหรือความเปราะบางที่เกิดขึ้น ได้แก่ เกษตรกรบางรายไม่มีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เป็นของตนเอง ขายทั้งหมด และซื้อใหม่เมื่อถึงฤดูกาลผลิต การรุกคืบของเมล็ดพันธุ์จากบริษัท เช่น เมล็ดข้าวพันธุ์ข้าวเบา เมล็ดข้าวโพด เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวมีความต้องการสารเคมีในปริมาณสูง การละทิ้งพันธุ์พืชพื้นบ้าน เนื่องจากมีการใช้พันธุ์จากที่อื่นมากขึ้น พันธุ์พื้นบ้านหายาก ขาดการสืบทอด และอนุรักษ์พันธุกรรม

p5

การปลูกสวนปาล์มของบางส่วนในตำบลชะแล้

 

การเปลี่ยนแปลงการปลูกข้าวมาเป็นการทำสวนปาล์ม สวนยางพารา และไร่นาสวนผสม เช่น พื้นที่ปลูกข้าวโพด พื้นที่ปลูกใบยาสูบที่ทำให้พื้นที่นาลดลง

  1. ความเสี่ยงทางด้านความรู้ ทั้งด้านองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการพึ่งตนเอง ความรู้สมัยใหม่ รวมถึงวิถีความเชื่อความผูกพันทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีปัจจัย ความเสี่ยงในประเด็นที่สำคัญๆ ได้แก่ ความรู้ในการผลิตแบบปลอดภัยคือ เกษตรกรมีความรู้พื้นฐานเรื่องระบบการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี แต่มีเป็นจำนวนมากที่ยังผลิตแบบใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช เนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ความไม่เชื่อมั่นในการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หนี้สินที่ต้องชำระกับ ธกส. เป็นเงื่อนไขสำคัญของการออกจากระบบการผลิตแบบเคมี เชิงเดี่ยว

ความรู้ในเรื่องการผลิตด้วยกรรมวิธีชีวภาพมีข้อจำกัดในเรื่องของการหนุนเสริมกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบโดยตรง (เกษตรกรไม่ได้รับโอกาส)  การใช้ภูมิปัญญาในการเก็บอาหารจากหัวไร่ปลายนา ซึ่งคนรุ่นหลังไม่ได้สืบทอดภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดไว้ให้ซึ่งเอื้อต่อการสร้างสมดุล เช่น วิธีการเก็บพืชผักในนาหรือผักข้างทาง เป็นต้น

การให้ความเคารพต่อธรรมชาติด้วยความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเชื่อต่อผีที่ดูแลน้ำ ดูแลนาไม่มีตัวตน และไม่น่าเกรงขาม โดยเกิดจากการเชื่อในความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น รวมทั้งขาดการสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ มีความรู้แต่ไม่มีสิทธิเลือกมากนัก สิทธิในการเข้าถึงอาหารนั้นแตกต่างจากสังคมเมือง เช่น การมีให้ซื้อ หรือราคาที่พอจะซื้อได้

  1. ความเสี่ยงด้านวัฒนธรรม และวิถีการบริโภค ซึ่งมีประเด็นที่อยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยง ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมการกิน เมนูอาหารท้องถิ่น ภูมิปัญญาในการแปรรูปอาหาร โดยมีปัจจัยความเสี่ยงมาจาก การรุกคืบของอาหารขยะ ผ่านสื่อที่คนในชุมชนได้รับทุกวันที่ทำให้ค่านิยมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลง เป็นการกินตามกระแสความทันสมัย เด็กนิยมรับประทานอาหารประเภทสำเร็จรูปมากกว่าอาหารในท้องถิ่นขนาดครอบครัวเล็กลง การแยกตัวเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น ระบบความสัมพันธ์ลดลง
  2. ความเสี่ยงทางด้านคน ผู้นำที่มีศักยภาพทางด้านความคิด แต่ขาดการถ่ายทอดความคิดสู่ผู้นำแถวสอง หรือไม่มีกิจกรรมที่สามารถเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด
  3. ความเสี่ยงทางด้านระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การจัดการโดยชุมชน/ กฎระเบียบชุมชน มีกติกาการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชนมีรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ชุมชนที่มีพื้นที่ฟาร์มทะเล แต่มีข้อจำกัดคือการใช้ได้กับคนภายในชุมชนเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงมีคนนอกพื้นที่ หรือพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาใช้ประโยชน ์ ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ กฎระเบียบชุมชนบางข้อที่เป็นเรื่องของการร่วมกันจัดการทรัพยากร กำลังถูกลืม เนื่องจากสังคมเจริญขึ้น อ้างกฎหมายมากกว่ากฎกติกาของชุมชน ขาดการเอาจริงเอาจังในการจัดการแหล่งอาหารธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีมาตรการ และคนในชุมชนยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มีการแย่งชิงอาหารจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจากคนภายนอกที่มีประชากรเพิ่มขึ้น เช่น จากคนนอกหมู่บ้าน ซึ่งมีวิธีการเก็บอาหารที่ผิดวิธี และเก็บหาในปริมาณที่มาก เช่น การเข้ามาทำประมงในพื้นที่ของชุมชนอื่นและรุกล้ำพื้นที่ฟาร์มทะเล
  4. แรงงานด้านวิถีโหนด-นา-เลลดน้อยลง ปัจจุบันยังพอมีแรงงานในภาคการเกษตรอยู่ แต่โดยมากแล้วจะมีอายุเฉลี่ย 40 ปี โดยแรงงานรุ่นใหม่ ๆ ไม่นิยมทำอาชีพเกษตรกรรมแล้ว เพราะมองว่าเหนื่อยและไม่คุ้มค่าในการผลิต ประกอบกับบุตรหลานจะต้องเข้าเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ และบางคนก็สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปจึงทำให้แรงงานในระดับครัวเรือนขาดแคลนลง บุตรหลานไม่สืบทอดการทำนา การขึ้นตาลโตนด และทำประมงจากพ่อแม่ นอกจากนั้นยังพบว่าแรงงานส่วนหนึ่งออกจากภาคเกษตรไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง เนื่องจากชาวบ้านมองว่าการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเงินเดือนมีความมั่นคง เพราะมีรายได้เข้ามาทุกเดือน ในขณะที่ทำนา ขึ้นตาลโตนด รายได้ไม่แน่นอนมั่นคง เพราะเมื่อทำนาไปแล้วหักต้นทุนการผลิตพบว่าชาวนาขาดทุน ข้าวที่ได้เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีพ่อค้าคนกลางนำรถบรรทุกมารับซื้อข้าวเปลือกถึงที่นา ส่วนใหญ่จะขายมีส่วนน้อยที่เก็บไว้กิน

นอกจากนั้นยังพบว่า ชาวบ้านที่เป็นวัยแรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลม่วงงาม ได้ทำงานในฐานขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งมี 10 กว่าฐาน โดยใช้วิธีการให้คนในพื้นที่เป็นกันชน เพื่อไม่ให้เกิดการประท้วง แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมีมาก ทำให้ทรัพยากรประมงลดลง ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารภายใต้วิถีเล

  1. ราคาผลผลิต ของพืชเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงของราคาผลผลิต สังเกตได้จากการขึ้นๆ ลง ๆ ในแต่ละปีไม่เท่ากัน ซึ่งหากลงทุนในการผลิตมากมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนสูง