วิถีชีวิตผู้คนภายใต้วิถีโหนด-นา-เล

ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาขึ้นตาลโตนด และทำประมงควบคู่กัน จึงทำให้ชุมชนที่อยู่ในอาณาบริเวณดังกล่าวต้องพึ่งพิงทรัพยากรประมงรอบทะเลสาบสงขลา จากการศึกษาพบว่า วิถีโหนด-นา-เล ประกอบด้วยภูมิปัญญาที่หลากหลาย ทั้งภูมิปัญญาการเลี้ยงควายในป่าพรุแถบทะเลสาบตอนบน ภูมิปัญญาศิลปะ ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมพื้นบ้านที่มากมายโดยรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจึงเป็นวิถีชุมชนที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมชุมชนโดยเฉพาะวิถีอยู่-วิถีกิน ที่ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีพด้วยวิถีโหนด-นา-เล ของชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระ ที่สืบทอดวิถีภูมิปัญญาต่อ ๆ กันมาเป็นเวลาช้านาน ในส่วนนี้ผู้วิจัยจะได้กล่าวถึงการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรสทิงพระและวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ภายใต้วิถีโหนด-นา-เลดังนี้

1. วิถีโหนด
การปลูกตาลโตนดมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปี จากการค้นพบจารึก ตาลังตูโวที่เมืองปาเล็มบัง กล่าวถึงการปลูกตาลโตนดในการสร้างสวนเกษตรหรือสวนสาธารณะของพระราชา ศรีชัยนาศ หรือ ศรีชยนาถ เมื่อปี พ.ศ. 1227 ดังคำอุทิศความว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงปลูกลงที่นี่คือ มะพร้าว หมาก ตาล สาคู และต้นไม้อื่นอีกหลายชนิดที่มีผลรับประทานได้ รวมทั้งต้นไผ่ เพื่อเป็นหนทางอันดีที่สุดแก่พวกเขาในอันที่จะได้ความสมบูรณ์พูนสุข หากเมื่อใดเขาหิวในขณะหยุดหรือระหว่างทางก็สามารถจะหาอาหารและน้ำดื่มได้ (นงคราญ ศรีชาย, 2544, น.23 อ้างถึงใน ไพฑูรย์ ศิริรักษ์, 2557)
ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึง พัทลุง สงขลาและปัตตานี โดยมากพืชชนิดนี้จะปลูกตามแนวคันนา ในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่นา 1 ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ 20 ต้น แต่บางแห่งเช่น บริเวณที่นาบ้านดอนคันเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลคูขุด พบมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมากพื้นที่ 1 ไร่มีต้นตาลขึ้นตามคันนาหนาแน่นถึง 110 ต้น และเมื่อปี 2525 นายสมพงศ์ กุลวิจิตร นายอำเภอสทิงพระ สมัยนั้นได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ ของอำเภอสทิงพระ สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง 500,000 ต้น และในปี 2550 ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1 ล้านต้น และหากนับรวม ๆ ทั้งจังหวัดสงขลา มีต้นตาลโตนดประมาณ 3 ล้านต้น ด้วยความหนาแน่นของต้นตาลโตนด เช่นนี้ ซึ่งปรากฏในหลายพื้นที่ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ใช้ตาลโตนดตั้งแต่ยอด ถึงรากให้เป็นประโยชน์อย่างหลากหลายและกว้างขวางจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

2. วิถีนา
ในอดีตวิถีของเกษตรกรไทย จะประกอบอาชีพแบบใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะ “ชาวนา” จะทำนาโดยอาศัยทุนของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น ไถนาด้วยแรงงานของสัตว์ และคน ใช้ปุ๋ยคอก(ไม้ยา) ปุ๋ยหมัก ใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน (ไข่มด เล็บนก นางพญา หอมจันทร์ นางหมรุย สังหยด )ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างเพียงพอ มีความขยัน ใช้ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีพื้นบ้าน ดังคำกล่าวที่ว่า ทำทุกอย่างที่ใช้ ปลูกทุกอย่างที่กิน โดยยึดหลัก “เงินทองคือมายา ข้าวปลาอาหารสิสำคัญ ” จึงอยู่อย่างมีความสุข ปลอดหนี้ การเก็บข้าวด้วย “แกะ” ทีละ “รวง” ผูกเป็น “เรียง”เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในเรื่องการทำนาของชาวภาคใต้ในอดีต มีให้เห็นทุกถิ่นที่ทำนาปัจจุบันมีเหลือให้เห็นน้อย“ครกสีหมุน” เป็นภูมิปัญญาเทคโนโลยีการสีข้าวของชาวนาไทยที่สามารถสีข้าวกินเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง แถมยังได้ ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ “ข้าวกล้อง – ข้าวซ้อมมือ” ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพไว้รับประทานอีกด้วย
หลังจากฤดูกาลการทำนา อาศัยความขยัน ผู้หญิงในชนบทตามหมู่บ้าน จะปลูกผักพื้นบ้าน ผักสวนครัวไว้กิน ไว้ขายภายในชุมชน ส่วนผู้ชายที่ขยันขึ้นตาลเคี่ยวน้ำผึ้ง ไว้กิน ไว้ใช้ เหลือเผื่อขายเป็นรายได้ของครอบครัว หรือเลี้ยงสัตว์ ไก่ หมู วัว ควาย เพื่อเป็นรายได้ หรือใช้แรงงาน และนำขี้ (มูล) เอาไปใช้เป็นปุ๋ยในการทำนา และปลูกผักสวนครัว บางคนบางครัวหลังเสร็จฤดูกาลทำนา ลงเล หากุ้ง หาปลา
ประมาณปี พ.ศ.2520 เริ่มมีการนำวัฒนธรรมการเกี่ยวข้าว แล้วฟัดของภาคกลางเข้ามาใช้ ในการทำนาของภาคใต้แถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าเมืองสู่โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้หาแรงงานยาก และค่าจ้างแพงทากขึ้น และหลังปี 2520 เริ่มมีการนำเครื่องจักรกล รถเก็บข้าวมาแทนแรงงานคนในการทำนาของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เนื่องจากได้ข้อมูลว่าในแถบถิ่นนี้มีปัญหาเรื่องแรงงานเก็บเกี่ยวข้าวจากกลุ่มคนที่มาจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อฝึกการใช้เคียวในการเกี่ยวข้าวให้กับชาวนาในทุ่งระโนด (จากการนำเข้า หรือชักชวน ของครูวิชัย อินทวงศ์ ร้านขายเครื่องจักรกลการเกษตร ในตลาดระโนด) การเกี่ยวข้าวโดยเครื่องจักรนอกจากทำให้เงินค่าจ้างไหลออกจากพื้นที่นับร้อยล้านบาทต่อปี แล้วยังมีปัญหาต่อชุมชนตามมาอีกหลายด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาวะวัฒนธรรม
ปี 2530 การทำนาได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาอย่างเดียวหันมาขุดนาปรับพื้นที่เป็นการทำ “ไร่ นา สวนผสม” เพื่อความอยู่รอดสู้ปัญหาในการทำนาที่ บางปีนาแล้ง บางปีนาล่ม เนื่องจากการทำนาส่วนใหญ่ เป็น “นาน้ำฝน” ส่งผลทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาที่หันมาทำไร่นาสวนผสม ดีขึ้น มีกินมีใช้ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อพืชผักสวนครัว หลาย ๆ อย่างเหลือกินเหลือใช้ นำไปขาย ทำให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนด้วยหนี้สินจากความขยัน
ปัจจุบันยางพารามีราคาแพง ทำให้ชาวนาเริ่มหันมาปลูกยางพาราในนากันมากขึ้น ปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นนายาง พื้นที่การปลูกยางเริ่มรุกพื้นที่นามากขึ้น คล้าย ๆ พื้นที่ในทุ่งระโนด ในอดีตเมื่อราว ๆ ต้นปี 2530 ที่มีการพลิกนาข้าวเป็นนากุ้งทำให้ผืนนาในการปลูกข้าวหมดไปพร้อมๆกับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนที่ดี และปัจจุบันหลาย ๆ พื้นที่นากำลังเปลี่ยนนาข้าว เป็นนาปาล์ม ตามนโยบายของรัฐ (ไพฑูรย์ ศิริรักษ์, 2557)
การลดลงของพื้นที่ปลูกพืชอาหารโดยเฉพาะข้าวนี่เองที่ไม่เพียงจะส่งผลต่อการขาดแคลนอาหารในอนาคตเท่านั้นเพราะปัจจุบันยังส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ภาคใต้โดยจากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าเนื่องจากพื้นที่ภาคใต้สามารถบริโภคอาหารที่ผลิตได้เองเพียงร้อยละ 6.9 เท่านั้น ทำให้ปัจจุบันประชาชนต้องบริโภคอาหาร ในการซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าถึงร้อยละ 76.4 เมื่อเทียบการบริโภคอาหารที่ผลิตเองในภาคอีสานแล้วภาคอีสานมีสัดส่วนที่ต้องซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าเพียง ร้อยละ 58.2 แต่สามารถบริโภคอาหารที่ผลิตเองได้ถึง ร้อยละ 41.8 ในขณะที่คนภาคใต้บริโภคอาหารจากการผลิตเองเพียง ร้อยละ 23.6 นับว่าคนภาคใต้เป็นกลุ่มที่ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารจากร้านค้าเป็นอันดับสองรองจากคนกรุงเทพฯ อีกด้วย (ดลมนัส กาเจ, 2556)
แหล่งผลิตข้าวในภาคใต้ที่ใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำตาปี ได้แก่ พื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสุราษฎร์ธานี สภาพภูมิประเทศที่มีนาข้าวและต้นตาลโตนดจัดเป็นภูมินิเวศที่สำคัญของบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระโนด ปากพนัง และสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้กำลังหดหายไปเนื่องจากการเปลี่ยนที่นาไปเป็นนากุ้งกุลาดำและจากการละทิ้งที่นาไปทำงานนอกภาคการเกษตรและจากการสำรวจเมื่อ ปี พ.ศ.2537 พบว่าพื้นที่นาปีมีอยู่จำนวน 3.24 ล้านไร่ ได้ลดลงในปี 2540 เหลือ 2.92 และในปี 2542ลดลงเหลือ 2.77 ล้านไร่ พื้นที่นาเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง พื้นที่นาร้างไม่เหมาะสม เช่น เป็นนาลุ่มจัด หรือนาดอนถูกปรับเปลี่ยนเป็นไร่นาสวนผสม การปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกไม้ผลตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตทางการเกษตร สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลและเมื่อมาถึงปี 2556 สถิติการลดลงของนาข้าวในภาคใต้ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิมคือลดลงอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เกษตรกรเปลี่ยนจากทำนาข้าว และนากุ้งเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมันแทนเท่านั้นจึงทำให้พื้นที่การทำนาข้าวลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางอาหาร (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2553)
นับได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนสภาพภูมินิเวศของพื้นที่ภาคใต้จากผืนนา และป่าใช้สอยชุมชนเป็นพื้นที่ของการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีนโยบายสานสัมพันธ์กัน 3 ประเทศ คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ให้พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ภายใต้กรอบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่บรรจุแผนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางและไม้ยาง 1 ใน 3 ในการพัฒนาด้านการเกษตรโดยมีประธานคณะทำงานฝ่ายไทยเป็นผู้แทนในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายให้เกษตรกรหันมาปลูกยางพาราจำนวนมาก และมีการตั้งกองทุนวิจัยสวนยางขึ้น จากเหตุการณ์ความร่วมมือดังกล่าวพบว่าพื้นที่ในการปลูกยางพารา และพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันที่เคยมีอยู่เดิมกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่นา และป่าใช้สอยชุมชนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด (คณะกรรมการ กรอ.จังหวัด 2556) ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้วิถีโหนด นา เล ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งชาวบ้านที่ดำรงชีวิตภายใต้วิถีโหนด นา เลกำลังสูญหายไปเหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

3. วิถีเล
คาบสมุทรภาคใต้ที่ทอดยาวด้วยเทือกเขาตลอดแนว มีทะเลทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ถือว่าเป็นแหลมทองแหลมไทยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทั้งบนบก และในน้ำ สำหรับคาบสมุทรสทิงพระจากอดีตที่เป็นเกาะอันสมบูรณ์ปรับเปลี่ยนเป็นคาบสมุทรมีทะเลอ่าวไทยอันสมบูรณ์ตลอดแนว ในแถบที่เรียกว่า รอบลุ่มทะเลสาบ มีผืนน้ำผืนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ 1,042 ตารางกิโลเมตร เป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งประเทศว่า คือ ทะเลสาบสงขลา ที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง 3 จังหวัดกว่าล้านคนมาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งกำเนิดของชุมชนนานนับพันปีก่อนประวัติศาสตร์ จึงเป็นดินแดนที่ร่ำรวยทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะแขนงต่าง ๆ เป็นแหล่งรับน้ำผืนใหญ่ที่มีลักษณะทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) ขนาดใหญ่ และการที่ทะเลสาบสงขลาได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จึงทำให้ทะเลสาบสงขลาเป็น เป็นระบบนิเวศผสมผสานหรือ “ทะเลสาบสามน้ำ” ที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ชาวบ้านแถบถิ่นนี้ได้อาศัยทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวมาช้านานหลายชั่วอายุคน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งริมทะเล จะมีความคิดความเชื่อว่า เล คือชีวิต เล คือบ้าน เล คืออาหาร และ เล คือปัจจัยสี่
ปัจจุบันทะเลถูกทำร้ายโดยผู้คน ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี หรือความทันสมัยของสังคมโลกยุคใหม่ ทำให้ทะเลไทยทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งทะเลสาบสงขลา เข้าสู่ “วิกฤต” ด้านสิ่งแวดล้อม ปลาเหลือน้อย น้ำเสีย ตื้นเขิน เพราะเป็นที่รองรับสิ่งปฏิกูล น้ำเสียจาก บ้านเรือนในชุมชน ตัวเมือง โรงงานอุตสาหกรรมโดยรายรอบ (เก็ตถวา บุญปราการ วันชัย ธรรมสัจการ อภิรักษ์ จันทวงศ์ เจตน์สฤษฎิ์ สังขพันธ์ และปิยะ จอมทอง, 2555)
ในช่วงปี 2540 เป็นต้นมามีนักวิจัยทางสังคมวิทยาจำนวนไม่น้อยที่พยายามหันมาศึกษา ชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาในทางสังคมวิทยากันมากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยน ผลผลิต และการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาโดยชุมชน เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้านแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ปรากฏในวรรณกรรมหนังตะลุงในงานศึกษาของเกษม ขนาบแก้ว (2540) การจัดการทรัพยากรประมงของชุมชนประมงขนาดเล็ก : กรณีศึกษาชุมชนแหลมโพธิ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาปรากฏในงานศึกษาของสุณีย์ บุญกำเหนิด (2541) พลวัตการปรับตัวของสังคมปักษ์ใต้: บทสำรวจเบื้องต้นต่อสภาพการวิจัยลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในงานศึกษาของศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ (2543) ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาในงานศึกษาของคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2541 ) วัฒนธรรมข้าวและพลังอำนาจชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาปรากฏในงานศึกษาของวิมล ดำศรี และไพรินทร์ รุยแก้ว (2544) คนฟื้นทะเลสาบ: เรื่องราวของกลุ่มชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลากับความพยายามที่จะกอบกู้ ฟื้นฟูทะเลสาบให้อุดมสมบูรณ์คู่บ้านคู่เมืองเลี้ยงปากเลี้ยงท้องสืบทอดจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเขาต่อไปในอนาคตในงานศึกษาของนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ (2545ก) การแลกเปลี่ยนและการค้าข้าวบริเวณชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาในงานศึกษาของชวลิต อังวิทยาธร (2545) พัฒนาการของพุทธศาสนาบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในงานศึกษาของชัยวุฒิ พิยะกูล ดุสิต รักษ์ทอง และสิริพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์ (2546) พัฒนาการการใช้ทรัพยากรในทะเลสาบสงขลา ศึกษากรณีชุมชนประมงพื้นบ้านในงานศึกษาของเลิศชาย ศิริชัย และนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ (2546) ศึกษาถึงความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาปรากฏในงานศึกษาของวิชัย กาญจนสุวรรณ และดุสิตา แก้วสมบูรณ์ (2546) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับการพัฒนาท้องถิ่นรอบทะเลสาบสงขลาในงานศึกษาของสมชาย เลี้ยงพรพรรณ (2547)
จากการสำรวจงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นพบว่า มีนักวิจัยสนใจศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับทะเลสาบสงขลาเป็นจำนวนมาก ผู้วิจัยส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันราชภัฎในภาคใต้ หน่วยงานทางการศึกษา โรงเรียน และองค์กรพัฒนาเอกชน เนื้อหาในงานวิจัยจะเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์เป็นส่วนมาก แต่ในช่วงทศวรรษ 2540 ที่ผ่านมานักวิจัยทางสังคมวิทยาได้หันมาศึกษาวิถีชุมชนในทะเลสาบสงขลาเพิ่มมากขึ้น เนื้อหามีหลากหลายและซับซ้อนขึ้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทรัพยากรประมง วัฒนธรรมข้าว การแลกเปลี่ยนผลผลิตชุมชน ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ทรัพยากร การปรับตัว การฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลสาบสงขลา ทั้งนี้เป็นเพราะกระแสการวิจัยได้หันมาให้ความสนใจกับพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และในบริบทของการพัฒนาประเทศในภาวะความทันสมัย ทำให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในประมงพาณิชย์ เป็นผลให้เกิดวิกฤติทรัพยากรประมง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชาวประมงพื้นบ้านในทะเลสาบสงขลา จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยการรวมตัวของกลุ่มสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา เพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา อีกทั้งแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนได้กำหนดยุทธศาสตร์ในด้านการบริหาร จัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยุทธศาสตร์การรองรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตโลก ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจน เป็นผลให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำหนดยุทธศาสตร์หลักหนึ่งในนั้นคือ ทะเลสาบสงขลา
แต่งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ส่วนงานวิจัยที่ใกล้เคียงกับงานศึกษาเรื่องนี้ ได้แก่ งานวิจัยของเชษฐา มุหะหมัด (2554) ได้ศึกษาเรื่องการปรับยุทธวิธีในการดำรงชีพของชาวประมงมุสลิมขนาดเล็กในภาวะขาดแคลนทรัพยากร โดยศึกษาบริเวณชุมชนชายทะเล ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในชุมชนชายทะเล ครัวเรือนชาวประมงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การบริโภคและค่านิยมในการดำเนินชีวิต โดยมีความต้องการทางวัตถุมากขึ้น การเติบโตในภาคอุตสาหกรรมทำให้ระบบการผลิตในภาคประมงเปลี่ยนไปจากการผลิตแบบยังชีพ สู่การผลิตแบบตลาด โดยที่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และได้รุกคืบเข้าสู่วิถีชีวิตเกือบทุกด้าน จนทำให้ชีวิตแบบดั้งเดิมที่เคยมีต้องปฏิสัมพันธ์กับตลาดมากขึ้น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงทำให้วิถีชีวิตของชาวประมงในชุมชนชายทะเล ต้องปรับตัวและปรับยุทธวิธีในการดำรงชีพ มีการปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องมือประมงที่ทันสมัยและจับสัตว์น้ำให้ได้มากขึ้น