สถานภาพองค์ความรู้ความมั่นคงทางอาหาร

ในช่วงแรกนั้นจำกัดอยู่ในกรอบของกระบวนการผลิต มีเป้าหมายการผลิตเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาช่วยในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปริมาณอาหารมากแล้ว แต่ปัญหา ความอดอยากของประชากรโลกยังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้แนวคิดทางเลือกใหม่จึงเกิดขึ้นโดยหลายฝ่ายตระหนักว่า ความมั่นคงทางอาหารไม่ได้มีเพียงมิติด้านการผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ เช่น การเข้าถึงอาหาร การผลิตอาหารให้ได้ปริมาณสม่ำเสมอ ความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ทั้งยังรวมถึงบริบทแวดล้อมอื่นๆ ของความมั่นคงทางอาหาร เช่น การพัฒนา การลดปัญหาความยากจน สถานการณ์ความเสี่ยง ความเปราะบาง การพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาชุมชน เป็นต้น นอกจากนั้น บทบาทของเกษตรกรได้ถูกนำมาทบทวนใหม่ว่า ภาคเกษตรกรรมไม่ได้เป็นเพียงภาคการผลิตที่ต้องได้รับการปกป้องเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศทั้งในด้านการเพิ่มปริมาณอาหาร การสนับสนุนการเข้าถึงอาหาร การมีปริมาณอาหารที่สม่ำเสมอ และความปลอดภัยทางอาหารอีกด้วย ความมั่นคงทางอาหารกับการพัฒนาภาคเกษตรในด้านต่างๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป

การนิยามความหมายของความมั่นคงทางอาหาร จากการศึกษาพบว่า FAO (1996) ได้แบ่งความหมายด้านความมั่นคงออกเป็น 4 มิติ คือ

  1. ความพอเพียง (Availability) ของปริมาณอาหาร ที่อาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศหรือการนำเข้า รวมถึงความช่วยเหลือด้านอาหาร
  2. การเข้าถึง (Access) ทรัพยากรที่พอเพียงของบุคคลเพื่อได้มาซึ่งอาหารที่เหมาะสมและมีโภชนาการ ทรัพยากรดังกล่าวหมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะกำหนดควบคุมกลุ่มสินค้าหนึ่งๆ ได้ภายใต้บริบททางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนที่บุคคลอาศัยอยู่ (รวมถึงสิทธิตามประเพณี เช่น การเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมของชุมชน)
  3. การใช้ประโยชน์ (Utilization) ด้านอาหารที่เพียงพอ น้ำสะอาดและการรักษาสุขภาพ และสุขอนามัยเพื่อที่จะเข้าถึงภาวะความเป็นอยู่ที่ดีทางโภชนาการ ซึ่งความต้องการทางกายภาพทั้งหมดได้รับการตอบสนอง โดยนัยยะนี้ ความมั่นคงทางอาหารจึงสัมพันธ์กับปัจจัยนำเข้าที่ไม่ใช่อาหารด้วย
  4. เสถียรภาพ (Stability) ทางอาหาร ที่ประชาชน ครัวเรือนและบุคคลจะต้องเข้าถึงอาหารที่เพียงพอตลอดเวลา ไม่ต้องเสี่ยงกับการไม่สามารถเข้าถึงอาหารอันเป็นผลมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น วิกฤตทางเศรษฐกิจหรือสภาพภูมิอากาศ หรือเหตุการณ์ที่เป็นไปตามวงจร เช่น ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารตามฤดูกาล ซึ่งในความหมายนี้ความมั่นคงทางอาหารครอบคลุมถึงมิติความพอเพียงและการเข้าถึงอาหารด้วย

8-14-2015 3-36-40 PM

 

ปิยนาถ อิ่มดี (2547, 18-20) ได้สรุปถึงความหมายของความมั่นคงทางอาหารไว้ว่าหมายถึง การกินดีอยู่ดีของครอบครัว ชุมชน และสามารถพึ่งตนเองทางด้านอาหารได้ โดยจะต้องมีสิทธิและสามารถเข้าถึงในทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และอาหารธรรมชาติได้ง่าย และใช้ความรู้ ภูมิปัญญา ทักษะ ความสามารถ และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในชุมชนมาจัดการกับทรัพยากรเหล่านั้นอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน และระบบนิเวศ อันที่จะทำให้ครอบครัวและชุมชนสามารถมีอาหารเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียงตลอดเวลาที่ต้องการ และอาหารนั้นจะต้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชนนั้นประกอบด้วย 3 มิติ หลัก ได้แก่

  1. การมีอยู่ของอาหาร (Food Availability) การมีปริมาณเสบียงอาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมอย่างมั่นคงและเพียงพอต่อทุกคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคืออาหารนั้นจะต้องสามารถหาได้และมีการนำมาใช้ได้ทุกเวลา ทุกคนสามารถนำอาหารมาใช้ในการบริโภคได้อย่างมีปริมาณพอเพียงมีคุณภาพ และมีหลากหลายชนิด และจะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นนั้นด้วยจะต้องมีการสะสมอาหารไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ซึ่งการมีอยู่ของอาหารและการหาอาหารนั้นได้ มีเงื่อนไขอยู่ที่ฤดูกาล แหล่งอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

หรือกล่าวคือทรัพยากรอาหารที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ (Open Resource – Private Resource)

  1. การเข้าถึงอาหาร (Food Accessibility) หมายถึงทุกคนสามารถเข้าถึง (มี) ทรัพยากรเพียงพอที่จะนำมาทำเป็นอาหารที่มีคุณค่า เข้าถึงทรัพยากรที่เหมาะสมสำหรับอาหาร เช่น ที่ดิน น้ำป่า เทคโนโลยี สามารถหาอาหารที่อยู่ในท้องถิ่นของตนเองได้ หรือคือการมีความสามารถในการมีอาหารได้ (Affordability) ไม่ว่าจะเป็นทางตรง คือมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และทางอ้อม คือสามารถซื้ออาหารมาได้ หรือราคาของอาหารไม่แพงเกินไป กล่าวได้ว่าการได้มาซึ่งอาหารจะต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกปลูกและบริโภคได้ โดยมีปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการเข้าถึงทรัพยากรคือ กฎหมาย ประเพณี การมีอธิปไตยทางอาหาร ทรัพยากรสาธารณะร่วม (Common Resource) การมีที่ดิน มีรายได้พอที่จะซื้ออาหาร ราคาของอาหารไม่แพงเกินไป รวมถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
  2. การใช้อาหารให้เป็นประโยชน์ (Food Utilization) การใช้อาหารให้ถูกต้องตามหลักชีวภาพผ่านทางโภชนาการ สุขอนามัย การดูแลสุขภาพ อาหารจะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน และอาหารจะต้องนำมาใช้เพื่อสุขภาพของบุคคลและมีคุณค่าทางอาหาร ทางโภชนาการ มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยปัจจัยที่มีผลต่อการใช้อาหารให้ประโยชน์ ได้แก่ การมีความรู้ ความสามารถหรือศักยภาพในการผลิตอาหาร การหาอาหาร การประกอบอาหาร เทคโนโลยี เครื่องมือในการทำมาหากิน ซึ่งส่งผลต่อการนำอาหารมาใช้

แนวคิดเกณฑ์ชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) ได้กำหนดเกณฑ์การชี้วัดสำหรับการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารไว้ดังนี้

สุพาณี ธนีวุฒิ (2544  อ้างถึงใน สุธานี มะลิพันธ์, 2552, 75) กล่าวว่า เกณฑ์การชี้วัดสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารระดับโลก (Global Food Security Situation) ประกอบด้วยเกณฑ์การประเมินใน 4 ประเด็นหลัก คือ

  1. การประเมินสต็อกคงเหลือของธัญญาหารโลก โดยการสำรวจปริมาณธัญญาหารแล้วนำมาเปรียบเทียมกับความต้องการในการบริโภคของประชากร ซึ่งมาตรฐานของเอฟเอโอ ได้กำหนดว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปริมาณอาหารกับความต้องการบริโภคถ้ามีอัตราส่วนเท่ากับร้อยละ 17-18 เป็นตัวชี้วัดว่ามีความมั่นคงทางอาหาร
  2. การพิจารณาถึงศักยภาพและความสามารถของประเทศผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญ 5 ประเทศหลักของโลกได้แก่ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา แคนนาดา สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
  3. การสำรวจปริมาณสต็อกคงเหลือของธัญญาหารในแต่ละหมวด ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ด ข้าวโพด
  4. การติดตามประเมินการผลิตธัญญาหาร ซึ่งจะเป็นการประเมินจากกลุ่มประเทศที่มีประชากรที่มีรายได้ต่ำและประชากรมีภาวการณ์ขาดแคลนอาหารสูง อาทิ จีน อินเดีย และการประเมินการเคลื่อนไหวของราคาส่งออกธัญญาหารชนิดต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว

สุธานี มะลิพันธ์ (2552, 76) ยังได้กล่าวถึงว่า ในเกณฑ์ชี้วัดความมั่นคงทางอาหารระดับประเทศ (National Food Security Situation) ประกอบด้วย

  1. ตัวชี้วัดด้านความพอเพียงของอาหารกับความต้องการบริโภคอาหารของคนในประเทศ โดยพิจารณาจากความต้องการพลังงานของอาหาร ต่อคน ต่อวัน
  2. ตัวชี้วัดด้านความสามารถในการเข้าถึงอาหาร ซึ่งเป็นความสามารถที่จะเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา โดยพิจารณาจากรายได้ประชาชาติของประชากรต่อคน ต่อปี และสัดส่วนในด้านรายจ่ายอาหารรวม
  3. ตัวชี้วัดด้านการมีปริมาณอาหารสะสม โดยพิจารณาจากความสามารถในการผลิตภายในประเทศ ได้แก่ การคาดการณ์ความหลากหลายของการผลิตอาหาร
  4. ตัวชี้วัดด้านสถานการณ์บริโภคอาหารของประชาชน โดยพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรที่ขาดอาหารเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ
  5. ตัวชี้วัดด้านสถานะทางโภชนาการ โดยพิจารณาจากสัดส่วนร้อยละของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  6. ตัวชี้วัดด้านทางสาธารณสุข โดยพิจารณาจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  7. ตัวชี้วัดด้านอนามัย โดยพิจารณาจากปริมาณการมีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพสะอาดและปลอดภัย

สำหรับเกณฑ์ชี้วัดสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่นในงานศึกษาของสุธานี มะลิพันธ์ (2552, 76 อ้างถึงใน ปิยนาถ อิ่มดี, 2549) อธิบายไว้ว่าเกณฑ์ชี้วัดความมั่นคงทางอาหารประกอบด้วย

  1. การมีอาหารเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในครัวเรือนและชุมชน โดยต้องมีอาหารสะสมอยู่พอสมควร อาหารมีหลากหลายประเภท โดยบริโภคอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่นมากกว่าการพึ่งพาอาหารจากภายนอก อาหารในท้องถิ่นมีราคาที่เหมาะสมไม่สูงเกินไปนัก
  2. สมาชิกในครัวเรือนและชุมชนต้องเข้าถึงอาหารได้ทั่วถึง เท่าเทียม โดยการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหาร ได้แก่ ป่าไม้ แหล่งน้ำ ที่ดิน หรือการมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับการซื้ออาหารจากร้านค้า รถขายอาหารหรือตลาดเพื่อนำอาหารมาบริโภค
  3. มีระบบการจัดการที่ดี เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในครัวเรือนและชุมชน ต้องมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ เพื่อผลิตอาหารประเภทต่างๆ สำหรับตอบสนองความต้องการบริโภค และมีการจัดการเพื่อให้อาหารที่มีสามารถกระจายไปสู่ครัวเรือน ชุมชน ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการรักษาระบบนิเวศให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพหรือให้มีความสมดุลอยู่เสมอ

จากการศึกษาแนวคิดทางด้านความมั่นคงทางอาหารทั้งแนวความคิดทั่วไปในบริบทของสังคมโลกและแนวความคิดในบริบทของสังคมไทย ตลอดจนการให้นิยามความหมายของผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย สามารถสรุปเพื่อนำมาเป็นกรอบความคิดในการศึกษาด้านความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชนได้ว่า ความมั่นคงทางอาหารหมายถึง การที่ครอบครัวและชุมชนมีความสามารถในการพึ่งตนเองทางด้านอาหาร รวมทั้งมีความสามารถเข้าถึงหรือตัดสินใจด้านทรัพยากรอาหารได้อย่างเป็นธรรม เพื่อนำมาบริโภคในชีวิตประจำวันได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการและความพึงพอใจของคนในชุมชนด้วยวิธีการเก็บหาอาหารตามธรรมชาติ โดยจะต้องมีสิทธิเข้าถึงในทรัพยากรธรรมชาติได้โดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจะต้องอยู่บนพื้นฐานการการบริหารจัดการที่ยอมรับและปฏิบัติร่วมกัน และการผลิตอาหาร (ระบบการเกษตร) โดยที่คนในชุมชนสามารถใช้ทักษะและเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำอาหารจากแหล่งต่างๆ มาบริโภคในชีวิตประจำวันได้อย่างพอเพียงและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน รวมถึงการแลกเปลี่ยนหรือการซื้อ และการเกื้อหนุนกันในทางวัฒนธรรมการแบ่งปัน  ทั้งนี้ได้มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารใน 3 มิติที่สำคัญ คือ การมีอยู่ของอาหาร (Food Availability) ที่มีเงื่อนไขอยู่ที่ฤดูกาล แหล่งอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ, ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (Food Accessibility) หรือความสามารถในการมีอาหารได้ (Affordability) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิในการเข้าถึงอาหาร และการใช้อาหารให้เป็นประโยชน์ (Food Utilization)

การศึกษาถึงความมั่นคงทางอาหารจะเป็นเรื่องของการมีอยู่ของอาหาร การเข้าถึงอาหาร ความเพียงพอของอาหารในการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน ส่วนที่สำคัญที่จะเป็นกลไกสำคัญคือการที่คน และชุมชนมีศักยภาพในการเสริมสร้างความมั่นคงของอาหารดังนั้นชุมชนจึงต้องเตรียมคนให้มีศักยภาพที่ดีที่จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีระบบการจัดการที่ดี เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในครัวเรือนและชุมชน ชุมชนจึงต้องมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ เพื่อผลิตอาหารประเภทต่างๆ สำหรับตอบสนองความต้องการบริโภค และมีการจัดการเพื่อให้อาหารที่มีสามารถกระจายไปสู่ครัวเรือน ชุมชน ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการรักษาระบบนิเวศให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพหรือให้มีความสมดุลอยู่เสมอ