สถานภาพองค์ความรู้ศักยภาพคน/ชุมชน

จากการสำรวจเอกสารไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของบุคคลโดยตรง แต่มีการศึกษาถึงศักยภาพของชุมชน หรือองค์กร ซึ่งศึกษาโดยชาติชาย มณีกาญจน์ (2538, 36) กล่าวว่าศักยภาพของชุมชน หมายถึง ขีดความสามารถในอันที่จะตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของคนส่วนใหญ่ในชุมชน รวมทั้งความสามารถของชุมชนในการประสานความร่วมมือการดำเนินงานกับคนภายในชุมชน ขณะเดียวกันก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่มาจากภายนอกชุมชนทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อความปกติสุขในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน องค์ประกอบที่ทำให้ชุมชนเกิดศักยภาพในการดำเนินงานใดๆ นั้น ได้แก่ โครงสร้างของประชาชน ระบบเครือญาติ ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยา โครงสร้างและระบบการปกครอง อาชีพ และระบบการผลิต ปัจจัยในการผลิตและระบบความเชื่อ
อคิน รพีพัฒน์ อ้างถึงใน อำไพ อุตตาธรรม (2542, 36) ได้ศึกษาและแสดงบทบทพิสูจน์ว่าชาวบ้านยกกระบัตรมีศักยภาพและใช้กระบวนการจัดการในการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์กับชุมชนของตนเองได้ เช่น ประเพณีการลงแขก เป็นต้น

สำหรับการศึกษาของ สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ (2533, 36) ได้กล่าวว่าก่อนที่จะมีระบบบริหารราชการเข้าไปมีบทบาทในชุมชนนั้น ชุมชนมีระบบการจัดการภายในชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ระบบเครือญาติ ระบบการคัดเลือกผู้นำ ระบบเหมืองฝ่ายต่างๆ ระบบศาลเฒ่าศาลแก่ ที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งหรือกรณีพิพาทในชุมชนนอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านอีกทั่วประเทศนับร้อยที่พยายามขวนขวายรวมกลุ่มรวมตัวกันจัดการทำกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่ม โดยผู้นำทางความคิดปราชญ์ชาวบ้าน ปัญญาชน และนักวิชาการในท้องถิ่น สามารถนำพลังทางวัฒนธรรมมาฟื้นฟู แก้ไขปัญหาและพัฒนาสร้างสรรค์ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนในงานศึกษาของอเนก นาคะบุตร อ้างถึงใน อำไพ อุตตาธรรม (2542, 36) ได้ทำการศึกษาศักยภาพของชุมชนในการแก้ไขปัญหาของตนเองและได้สรุปผลการศึกษาว่า ประชาชนมีบทบาทจัดการตนเองในเรื่องของการแก้ไขปัญหา จัดการเรียนรู้ หาทางออกในเชิงดิ้นรนโดยได้ประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมากมายทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งตรงกับผลการศึกษาสุเทพ แสนมงคล (2543, 16) ที่ได้เสนอว่าชาวนาในบริบทที่ทุนนิยมแทรกแซงอย่างหนักนั้นพยายามดิ้นรนเพื่อดำรงอยู่ในชุมชนโดยพยายามปรับปรุงรูปแบบการใช้แรงงานปรับรูปแบบการใช้ทรัพยากรในการผลิตพืชเชิงพาณิชย์ แต่ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ทำให้ชาวนาเหล่านี้หลุดพ้นจากหนี้สินไปได้เนื่องจากการปรับตัวของชาวนาเป็นไปในระดับปัจเจกและชุมชนไม่ได้เป็นการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับระบบตลาด และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างเต็มที่

สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับศักยภาพในการศึกษาครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบแนวความคิดที่ว่าหมายถึงความพร้อมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบกฎหมาย การให้ความสนใจในกระบวนการและขั้นตอน การจัดทำแผนรวมทั้งการทราบบทบาทของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปมีส่วนสนับสนุนและส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบล พร้อมกับการนำแผนพัฒนาตำบลไปใช้ในการพัฒนาตำบลฐานคิดการพัฒนาศักยภาพของชุมชน

การพัฒนาวันนี้มีฐานคิดใหม่ไม่ได้อยู่บนหลักคิดที่ว่าผู้คน “โง่ จน เจ็บ” อีกต่อไปแต่อยู่บนฐานของความเข้าใจเรื่อง “ศักยภาพ” ที่ต้องเข้าใจว่าชุมชนมีคน ความรู้ ทรัพยากร และสามารถทำให้เกิด “คุณภาพ” ได้โดยการเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทั้งสามของชุมชน คือ คนสัมพันธ์กับความรู้ มีการเรียนรู้ก็เกิดความรู้ มีกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่อง คนสัมพันธ์กับทรัพยากร มีการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความรู้ ความรู้สัมพันธ์กับทรัพยากร คือการพัฒนาเป็นประสบการณ์ในการพัฒนา (เสรี พงศ์พิศ 2548, 17)
ศักยภาพ กระบวนทัศน์พัฒนาใหม่ เครื่องมือสู่ชุมชนรู้ถึงศักยภาพของตนการจัดทำ “ประชาพิจัย” หรือชื่อเต็มว่า “ประชาพิจัยและพัฒนา” (People Research and Development-PR&D) ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และนำไปสู่การทำ “แผนแม่บทชุมชน” หัวใจของการทำประชาพิจัยอยู่ที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ชุมชนหลุดพ้นจากวิธีคิดแบบพึ่งพาและรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก (เสรี พงศ์พิศ 2549, 84)

แผนแม่บทชุมชน คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่ชุมชนร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจศักยภาพที่เป็น “ทุน” ที่แท้จริงของตนเอง และพบแนวทางในการพัฒนาทุนดังกล่าว ไปสู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดผลต่อชีวิตของชุมชน ทำให้ชุมชนพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง อันเป็นกระบวนการเรียนรู้หรือการทำแผนแม่บทบทบาทของหน่วยงาน องค์กรและบุคคลที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของชุมชน

  1. เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (facilitator) คือ การไปสร้างการเรียนรู้ให้ชุมชนมีความรู้ในทุกอย่างที่อยากทำ
  2. เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (catalyst) ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เรียกว่า “นวัตกรรม” (innovation) ตัวอย่างเช่น การทำไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมผสาน
  3. เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดเครือข่าย (networker) คือ การเชื่อมโยงผู้คนเป็นเครือข่าย ให้ผู้คนสื่อสารสัมพันธ์กัน ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา รวมกันพัฒนาศักยภาพของตนเอง(เสรี พงศ์พิศ 2548, 21-22)